สื่อสังคมออนไลน์ Facebook เผชิญกับการตรวจสอบครั้งใหม่ทั้งในอังกฤษและสหรัฐฯ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจของอังกฤษ 'เคมบริดจ์ อนาไลติกา' (Cambridge Analytica) รวบรวมและแชร์ข้อมูลของผู้ใช้ Facebook หลายสิบล้านคน โดยไม่ได้รับอนุญาต และอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ.2016
รายงานเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า Cambridge Analytica ใช้ข้อมูลของสมาชิกผู้ใช้ Facebook กว่า 50 ล้านคน อย่างไม่เหมาะสม เพื่อโน้มน้าวให้คนอเมริกันออกเสียงให้กับมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ โดนัลด์ ทรัมป์ และช่วยให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 2016
ในขณะเดียวกัน สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า คณะกรรมการด้านการค้าของสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบว่า Facebook ละเมิดกฎเกณฑ์ข้อบังคับของทางการสหรัฐฯ ด้วยการอนุญาตให้ Cambridge Analytica ใช้ข้อมูลที่บรรดาผู้ใช้ของ Facebook โพสต์ลงในโลกออกไลน์หรือไม่
เมื่อวานนี้ Facebook ได้สั่งห้าม Cambridge Analytica ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับ Facebook อีกต่อไป และจะไม่รับโฆษณาจากบริษัทดังกล่าวด้วย ขณะที่สมาชิกรัฐสภาของสหรัฐฯ หลายคน เรียกร้องให้นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของ Facebook ขึ้นให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับกรณีอื้อฉาวนี้
ส.ว.เอมี โคลบุชชาร์ (Amy Klobuchar) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐสภาสหรัฐฯ ต้องการทราบ คือ เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีความเสียหายมากน้อยแค่ไหนต่อข้อมูลของผู้ใช้ Facebook กว่า 50 ล้านคนที่ถูกขโมยไป และ Facebook แก้ไขจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ราคาหุ้นของ Facebook ตกต่ำลงในการซื้อขายในวันจันทร์หลังการเปิดเผยข่าวนี้ ส่งผลให้ Facebook สูญเงินหลายพันล้านดอลลาร์
ด้านคณะกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลอังกฤษ เอลิซาเบ็ธ เดนแนม (Elizabeth Denham) เปิดเผยว่า เธอกำลังออกหมายค้นเพื่อใช้ในการตรวจสอบสำนักงานใหญ่ของบริษัท Cambridge Analytica ในกรุงลอนดอน จุดประสงค์เพื่อดูว่า Facebook ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook หรือไม่
เอลิซาเบ็ธ เดนแนม กล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า สิ่งที่รัฐบาลอังกฤษกำลังตรวจสอบ คือ Facebook ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อย่างไร และมีการตอบสนองต่อการถูกแชร์หรือขโมยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างไร
Facebook ระบุว่า ข้อมูลที่รั่วไหลนั้นถูกรวบรวมผ่านแอพพลิเคชั่นอย่างหนึ่งใน Facebook ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยนักวิชาการชาวอังกฤษ อเล็กซานเดอร์ โคแกน (Aleksandr Kogan) จากมหาวิทยาลัย Cambridge และมีผู้ดาวน์โหลดแอพที่ว่านี้ราว 270,000 คน โดยข้อมูลที่รั่วไหลนั้นยังรวมถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่เป็นเพื่อนใน Facebook ของคนที่ดาวน์โหลดแอพดังกล่าวด้วย
ทาง Facebook กล่าวหาด้วยว่า นายโคแกนละเมิดกฎข้อบังคับในการใช้ Facebook ด้วยการส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นให้กับบริษัท Cambridge Analytica
ในวันอังคาร มหาวิทยาลัย Cambridge ได้สอบถามไปยัง Facebook เพื่อขอข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง นายโคแกน กับบริษัท Cambridge Analytica ด้วย
(ผู้สื่อข่าว Ken Bredemeier รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)
วิเคราะห์ข่าว
ข้าพเจ้าคิดว่า การที่มีข้อมูลผู้ใช้เฟสบุ๊ครั่วไหลออกมาไม่ว่ามากหรือน้อยนั้น ย่อมเป็นปัญหาต่อผู้ใช้เฟสบุ๊คทั้งหมด เพราะผู้ใช้มีข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ความลับ หรือข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ อาจจำนำไปสู้การก่ออาชญากรรม การปลอมแปลงเอกสาร การปลอมแปลงตัวตน ทำให้ผู้ใช้เดือดร้อนได้